สารสกัดทุเรียนอ่อนสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง
นักวิจัย  
รศ.ดร.ศุภอรรจ ศิริกันทรมาศ และคณะ
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1903002348 ยื่นคำขอวันที่ 12 กันยายน 2562
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
ทุเรียนอ่อน คือ ผลของทุเรียน (Durio zibethinus Murray) ที่ยังไม่มีการเจริญของเนื้อผลที่สมบูรณ์ และยังไม่มีการสร้างกลิ่นของสารระเหยที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบซึ่งเป็นกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน โดยชาวสวนทุเรียนจะตัดผลทุเรียนอ่อนทิ้ง เพื่อให้มีจำนวนผลบนต้นทุเรียนที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ผลทุเรียนอ่อนนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่าในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ทางทีมนักวิจัยได้ศึกษาพบว่าสารสกัดจากทุเรียนอ่อนมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่สูง โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่พบส่วนหนึ่งเป็นสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งสารประกอบฟีนอลิกนี้มีความสามารถในการป้องกันผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต และดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสามารถป้องกันอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำของรังสีอัลตราไวโอเลตประเภทรังสียูวีเอและยูวีบี ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผิวหนัง โดยก่อให้เกิดรอยแดง ผิวหนังบวม ไหม้อักเสบ สีผิวคล้ำ และในที่สุดอาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนังได้ นอกจากนี้ในสารสกัดจากทุเรียนอ่อนยังมีสารเพคติน ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังอีกด้วย
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ทางทีมนักวิจัยได้ศึกษาถึงกรรมวิธีการเตรียมสารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเพคตินจากผลทุเรียนอ่อน โดยใช้กระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้ความร้อนในการสกัด เพื่อลดพลังงาน ขั้นตอน และค่าใช้จ่าย โดยกรรมวิธีการสกัดนี้จะได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเพคตินในปริมาณที่สูงกว่าวิธีที่เคยมีการรายงานมา

จุดเด่นเทคโนโลยี
- ใช้กระบวนการสกัดที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีการใช้ตัวทำละลายที่เป็นพิษ
- เป็นกระบวนการสกัดที่สามารถประหยัดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก
- ได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเพคตินในปริมาณที่สูง
- ช่วยเพิ่มมูลค่าจากของเหลือใช้ทางการเกษตร
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
โทรศัพท์ 02-218-4195-7 ต่อ 109
โทรศัพท์มือถือ 0863361486
Email jiranat.s@chula.ac.th
สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "สารสกัดทุเรียนอ่อนสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง"