ชุดทดสอบวุ้นอาหารความหนืดสูงสำหรับคัดแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์
นักวิจัย  
นายสืบตระกูล วิเศษสมบัติ
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1503000276 ยื่นคำขอวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
แคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ ก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในมนุษย์ เป็นเชื้อประจำถิ่นในลำไส้ไก่และสัตว์ปีก เชื้อก่อโรคจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยได้รับเชื้อจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน โดยเฉพาะเนื้อไก่, เครื่องในไก่, และเนื้อหมู นอกจากนี้ยังพบเชื้อดังกล่าวปนเปื้อนได้ในแหล่งน้ำดิบ น้ำนมดิบ
วิธีการแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์จากอาหารตามมาตรฐานโดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาทำได้โดยนำตัวอย่างอาหารใส่ในอาหารเหลว เติมยาปฏิชีวนะ แล้วบ่มเลี้ยงเชื้อ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 4 ชั่วโมง เพื่อซ่อมแซมและปรับสภาพเชื้อในสภาวะก๊าซออกซิเจนต่ำ (microaerobic) ที่มีก๊าซออกซิเจน 5%, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10%, และก๊าซไนโตรเจน 85% แล้วนำไปบ่มต่อที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นขีดแยกเชื้อบนจานอาหารเลี้ยงเชื้อ charcoal cefoperazone deoxycholate agar บ่มเลี้ยงเชื้อต่อที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สังเกตการเจริญเชื้อ โดยโคโลนีของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์มีสีเทา มันวาว ขอบไม่เรียบ แล้วจึงบ่งชี้ชนิดของเชื้อด้วยการทดสอบสมบัติทางชีวเคมีของเชื้อ วิธีการตรวจแยกเชื้อดังกล่าวต้องใช้เวลา 3-5 วัน สำหรับเพาะเลี้ยงและแยกเชื้อ ตามด้วยการทดสอบสมบัติชีวเคมีของเชื้อซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 7 วัน ทำให้ห้องปฏิบัติการทางจุลชีววิทยาไม่นิยมตรวจ ประกอบกับสภาวะก๊าซออกซิเจนต่ำที่จำเป็นสำหรับการอยู่รอดของเชื้อนั้น จำเป็นต้องใช้อุกรณ์จากต่างประเทศที่มีราคาสูง เหล่านี้ส่งผลให้โรคติดเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ถูกมองข้าม อาจนำมาซึ่งการวินิจฉัยผิดและการให้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม
จากข้อด้อยดังกล่าวผู้ประดิษฐ์มีแนวคิดในการพัฒนาวุ้นอาหารคัดแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เนื่องจากเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์มีแฟลกเจลลาเป็นโครงสร้างช่วยในการเคลื่อนที่ที่ด้านใดด้านหนึ่งของเซลล์ (polar flagellum) ส่งผลให้เชื้อมีลักษณะการเคลื่อนที่แบบควงสว่านอย่างรวดเร็ว (corkscrew motility) ได้ดี ผู้ประดิษฐ์จึงได้พัฒนาอาหารวุ้นที่มีความหนืด (viscosity) สูง เพื่อใช้คัดแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ โดยใช้อาหารเหลวซึ่งเหมาะสมกับการเจริญของเชื้อ ผสมกับวุ้นอาหาร (agar technical) ทำให้มีความหนืดที่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนที่แทรกตัวของเชื้อในสภาวะบรรยากาศปรกติ ที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส โดยเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เท่านั้นที่สามารถแทรกตัวและเคลื่อนที่ภายในวุ้นอาหารความหนืดสูง ทำให้เกิดโซนของการ เคลื่อนที่ภายใต้ผิวหน้าวุ้นอาหาร (subsurface motility) ได้ ในขณะที่เชื้อจุลชีพอื่นไม่สามารถเคลื่อนที่แทรกตัวในอาหารที่มีความหนืดสูงนี้ได้
การประดิษฐ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชุดทดสอบวุ้นอาหารความหนืดสูงสำหรับคัดแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ชุดทดสอบมีลักษณะเป็นจานอาหารเลี้ยงเชื้อมีฝาปิด บรรจุด้วยวุ้นอาหารชนิดกึ่งแข็งกึ่งเหลว และเข็มเขี่ยเชื้อสำหรับถ่ายโคโลนีของเชื้อที่ต้องการทดสอบ เมื่อบ่มชุดทดสอบภายใต้บรรยากาศปรกติที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ด้วยสมบัติการเคลื่อนที่แบบควงสว่านของเชื้อทำให้เฉพาะเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เท่านั้นที่สามารถแทรกตัวและเคลื่อนที่ภายใต้เนื้อวุ้นอาหารความหนืดสูง ส่งผลให้เกิดโซนของการเคลื่นที่ภายใต้ผิวหน้าวุ้นอาหารได้
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ชุดทดสอบวุ้นอาหารความหนืดสูงสำหรับคัดแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ซึ่งได้ประดิษฐ์นี้ สามารถใช้ทดสอบร่วมกับการทดสอบเบื้องต้นที่สำคัญของเชื้อ ได้แก่ การติดสีกรัมลบ รูปร่างแบคทีเรียเป็นท่อขาดเล็กโค้งงอ ให้ผลบวกกับการทดสอบออกซิเดส ทำให้ลดเวลาทดสอบสมบัติชีวเคมีของเชื้อเหลือเพียง 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ชุดทดสอบใหม่ที่คิดค้นขึ้นนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น ตู้เลี้ยงเชื้อบรรยากาศพิเศษ เนื่องจากอาหารเหลวที่ใช้นั้นมีสมบัติดูดซับก๊าซออกซิเจนที่เป็นพิษต่อเซลล์ของเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ได้ดี จึงสามารถบ่มชุดทดสอบดังกล่าวไว้ในสภาพบรรยากาศปรกติ ทำให้ลดต้นทุนในการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศได้
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้ร่วมวิจัยพัฒนา
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีราคาเดียว
สนใจสอบถามข้อมูล
แสงนภา ตันสกุล
โทรศัพท์ 075-672927 /088-4490323
Email tsangnap21@gmail.com
อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชุดทดสอบวุ้นอาหารความหนืดสูงสำหรับคัดแยกเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์"