กล้องจุลทรรศน์เพื่อการเรียนการสอนชนิดพกพา
นักวิจัย  
รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1403001672 ยื่นคำขอวันที่ 4 ธันวาคม 2557
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
กล้องจุลทรรศน์ (Microscope) เป็นกล้องสำหรับมองวัตถุที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นหรือวิเคราะห์ภาพที่เกิดจากการมองวัตถุได้ จากอดีตจนถึงปัจจุบันพบว่ากล้องจุลทรรศน์ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถใช้ในการมองวัตถุที่มีขนาดอยู่ในระดับไมครอน (Micron) หรือเล็กกว่าไมครอนได้ ดังนั้นกล้องจุลทรรศน์จึงถูกนำไปใช้ในทุกอุตสาหกรรมกันอย่างกว้างขวางกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของกล้องจุลทรรศน์ จึงได้มีการบรรจุวิชา "การใช้กล้องจุลทรรศน์" ลงในหลักสูตรตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อให้นักเรียนมีพื้นฐานในการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆจากการใช้กล้อง โครงสร้างหลักของกล้องจุลทรรศน์ประกอบด้วยเลนส์วัตถุ (Object Len) ที่วางตัวอยู่เหนือแผ่นสไลด์ซึ่งเป็นแผ่นกระจกใส วัตถุหรือชิ้นตัวอย่างที่ต้องการศึกษาถูกติดตั้งไว้บนแผ่นสไลด์และปิดทับด้วยกระจกบาง (Cover Slip) ในส่วนบนสุดของกล้องจุลทรรศน์จะได้รับการติดตั้งเลนส์อีกชุดคือ เลนส์ตา (Eye Len) ที่ทำหน้าที่ในการรวมแสงเพื่อส่งผ่านเข้าสู่ตาของผู้ใช้งาน สำหรับแหล่งกำเนิดแสงนั้นจะถูกติดตั้งในส่วนล่างของแผ่นสไลด์เพื่อเปิดโอกาสให้แสงส่องผ่านวัตถุหรือชิ้นตัวอย่างที่ต้องการศึกษาไปยังเลนส์วัตถุและเข้าสู่เลนส์ตาในที่สุด

กล้องจุลทรรศน์ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบครบถ้วนดังที่กล่าวไปข้างต้นและสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพภายในห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามในการนำไปใช้งานในภาคสนามนั้นมีข้อจำกัดหลายประการด้วยกัน กล่าวคือราคาของกล้องจุลทรรศน์นั้นสูงเกินกว่าที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียน/นักศึกษาสามารถถือครองหรือยืมจากสถาบันการศึกษาได้ และไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในงานภาคสนามที่จำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บและศึกษาตัวอย่าง ด้วยข้อจำกัดประการนี้ส่งผลให้มีการพัฒนากล้องจุลทรรศน์ชนิดพกพาโดยใช้กระดาษแข็ง "Foldscope" สิ่งประดิษฐ์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากกล้องจุลทรรศน์ Foldscope โดยผู้ประดิษฐ์พบว่าจุดด้อยของกล้องจุลทรรศน์ Foldscope คือการที่กล้องถูกสร้างจากกระดาษอาจเกิดความเสียหายได้หากได้รับความชื้น (ซึ่งเกิดได้ง่ายมากในการใช้งานภาคสนามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย) หรือหล่นลงในน้ำ นอกจากนั้นถึงแม้ว่ากล้องจุลทรรศน์ Foldscope จะเปิดเผยชิ้นงานกระดาษให้ผู้สนใจในการนำไปใช้งานสามารถพิมพ์และตัดกระดาษออกเป็นชิ้นส่วนต่างๆได้เอง แต่การตัดกระดาษและการประกอบชิ้นส่วนต่างๆก็มีความยุ่งยากพอสมควร
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
กล้องจุลทรรศน์ lekOscOpe ได้รับการออกแบบเพื่อการใช้งานนอกห้องปฏิบัติการเพื่อเปิดโลกการเรียนรู้อย่างไร้ขอบเขตและสร้างโลกทัศน์ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กให้กับเยาวชน กล้องจุลทรรศน์ lekOscOpe สามารถพกพาได้สะดวก น้ำหนักเบาทนทานต่อการตกหล่นและบิดตัว รองรับต่อการติดตั้งเลนส์ได้หลากหลายขนาด และยังเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถประกอบกล้องได้เองอันเป็นการปลูกฝังทักษะการเรียนรู้พื้นฐานด้านงานช่าง
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบระดับ pilot scale
เงื่อนไข
เทคโนโลยีราคาเดียว
สนใจสอบถามข้อมูล
รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี
โทรศัพท์ 075672318
Email kwattana@wu.ac.th
สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "กล้องจุลทรรศน์เพื่อการเรียนการสอนชนิดพกพา"