บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผสมไคโตซานจากเปลือกกุ้ง
นักวิจัย  
อ.ดร.ดลพร แซ่แต้
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
สถานภาพสิทธิบัตร
คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2303001075 ยื่นคำขอวันที่ 18 เมษายน 2566
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
จากสถิติการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประชากรในประเทศต่างๆทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามารถรับประทานได้ง่าย เพียงใช้การต้มหรือลวกน้ำร้อน มีราคาไม่แพง มีรสชาติดีและหลากหลาย สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น นอกจากนี้ ในสภาวะการเกิดโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 พฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้คนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนนั้น อย่างไรก็ตาม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในตลาดมีปริมาณโซเดียมสูง เนื่องจากโซเดียมช่วยเสริมให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีรสชาติดี จากการสำรวจพบว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณแตกต่างกันไปตามยี่ห้อและรสชาติ โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาด 70-150 กรัม มีปริมาณโซเดียมอยู่ในช่วง 700-2,360 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังพบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศบางยี่ห้อที่มีปริมาณโซเดียมสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งสำหรับคนไทย ปริมาณโซเดียมที่ผู้บริโภคได้รับต่อวันไม่ควรเกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม การได้รับโซเดียมปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
กุ้งเป็นสัตว์น้ำที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโนไกลซีน (Glycine) จับกับกลูตาเมต (Glutamate) และก่อให้เกิดรสชาติแบบอูมามิ (Umami taste) จึงเป็นที่นิยมในการนำมาประกอบอาหารหรือเป็นส่วนผสมของอาหาร อย่างไรก็ตามเนื้อกุ้งสดมีราคาสูงและถูกจำหน่ายเพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารโดยตรง ซึ่งต่างจากเปลือกกุ้งที่เป็นเศษเหลือในอุตสาหกรรมซึ่งมีราคาถูก หรือมักถูกทิ้งเป็นขยะชีวภาพ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยมีอัตราการบริโภคกุ้งภายในประเทศและส่งออกกุ้งไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเปลือกกุ้งคิดเป็นร้อยละ 50 ของน้ำหนักกุ้งทั้งตัว อีกทั้งเปลือกกุ้งยังอุดมไปด้วยสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหาร เช่น โปรตีน และไคตินซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตซานที่มีมูลค่าสูง ให้กลิ่นรสเฉพาะตัวแบบอูมามิที่สามารถช่วยลดการใช้โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าไคโตซานที่เตรียมจากเปลือกกุ้งสามารถช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลและลดปริมาณไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) ในมนุษย์ได้ ผู้ประดิษฐ์จึงได้พัฒนาสูตรสำหรับผลิตเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของเปลือกกุ้งและยังคงคุณค่าทางอาหาร
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
นางสาวอธิฌา สร้อยนาค
โทรศัพท์ 02-8496050 ต่อ 6056
โทรศัพท์มือถือ 098-6624992
Email athicha.soi@mahidol.edu
สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผสมไคโตซานจากเปลือกกุ้ง"