ตัวเร่งปฏิกิริยาแคลเซียมออกไซด์จากเปลือกหอยสำหรับการผลิตไบโอดีเซล
นักวิจัย  
ผศ.ดร.สุภกร บุญยืน
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
สถานภาพสิทธิบัตร
อยู่ระหว่างยื่นคำขอ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
พลังงานทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือไบโอดีเซล (Biodiesel) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตมาจากน้ำมันพืช หรือสัตว์ ที่มีหน่อยย่อยเป็นไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โดยจะถูกนำมาผ่านขบวนการทางเคมีกับเมทานอล ที่เรียกว่า ทรานสเอสเทอริฟิเคชัน (Transeterification) โดยจำเป็นต้องมีตัวเร่งปฎิกิริยา (Catalyst) ไม่ว่าจะเป็นกรดหรือด่าง ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมเพื่อทำให้โมเลกุลของน้ำมันมีขนาดเล็กลงอยู่ในรูป ของเอทิลเอสเตอร์ (Ethyl esters) หรือ เมทิลเอสเตอร์ (Methyl esters) และผลผลิตอีกชนิดที่ได้คือ กลีเซอรีน ประโยชน์ของการใช้ไบโอดีเซลด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย สามารถลดมลพิษในอากาศอันเนื่องมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ปฏิกิริยาการผลิตไบโอดีเซลจำเป็นที่จะต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเอกพันธ์และตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธ์ ซึ่งในกระบวนการผลิตโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบเอกพันธ์นั้นจะปัญหาในการแยกตัวเร่งปฏิกิริยาออกจากผลิตภัณฑ์ทำได้ยาก จึงได้มีผู้วิจัยศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธ์เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธ์นั้นสามารถแยกออกจากผลิตภัณฑ์ได้ง่ายด้วยวิธีการกรองจึงสามารถลดปัญหาน้ำเสียที่จะเกิดจากการล้างตัวเร่งปฏิกิริยาเอกพันธ์ ผลงานวิจัยนี้ผู้วิจัย ได้รายงานประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาแคลเซียมออกไซด์จากเปลือกหอยแปรรูปแทนการใช้แคลเซียมออกไซด์ทางการค้าที่มีตัวรองรับ ซึ่งจะใช้ปูน/แก้วเป็นตัวรองรับ
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
การขึ้นรูปตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ เพื่อให้สะดวกในการกรองแยก สามารถสังเคราะห์ได้จากแคลเซียมออกไซด์ และผงเปลือกหอยที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ได้เม็ดที่มีความคงทนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง เตรียมโดยผสม แคลเซียมออไซด์ (หรือผงหอยแปรรูป) และแก้วในสัดส่วน 70 ต่อ 30 โดยใช้สารละลายโซเดียมซิลิเกตเป็นตัวประสาน และเผาในสภาวะเผากลบด้วยผงแคลเซียมออกไซด์ ที่อุณหภูมิ 900 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และเมื่อนำมาเร่งปฏิกิริยา พบว่า ให้ร้อยละการเปลี่ยนไปเป็นน้ำมันถึง 94.50 สำหรับแคลเซียมออกไซด์ที่ซื้อมาในเชิงพาณิชย์และร้อยละการเปลี่ยนไปเป็นน้ำมันถึง 92.75 สำหรับการใช้เปลือกหอยแมลงภู่ ตัวเร่งวิวิธพันธ์ที่เตรียมได้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และให้ผลใกล้เคียงกับกรณีแรกเมื่อผ่านการล้างและปรับสภาพด้วยเมทานอลและเฮกเซน
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 1664-5
Email tu.tuipi@gmail.com
ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ตัวเร่งปฏิกิริยาแคลเซียมออกไซด์จากเปลือกหอยสำหรับการผลิตไบโอดีเซล"