นวัตกรรมเม็ดลูกดินสำหรับการบำบัดขยะอินทรีย์หรือใช้เป็นวัสดุปลูก
นักวิจัย  
รศ.ดร.บัญจรัตน์ โจลานันท์
สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
 
สถานภาพสิทธิบัตร
อนุสิทธิบัตร เลขที่ 9329 เรื่อง สูตรเม็ดดินที่ใช้เป็นวัสดุปลูกหรือเป็นวัสดุที่นำไปใช้บำบัดขยะอินทรีย์และกรรมวิธีการผลิต
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
จากสภาพปัญหาวิกฤตการจัดการขยะชุมชนของประเทศไทย โดยเฉพาะขยะอินทรีย์จากภาคครัวเรือน ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านงบประมาณ ความต้องการใช้พื้นที่ฝังกลบ ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมในการจัดการขยะมูลฝอยระหว่างภาครัฐกับประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางการรับมืออย่างเร่งด่วน โดยทั่วไปวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรตัวอย่างเช่น ฟางข้าว แกลบ ซังข้าวโพด ชานอ้อย ขุยมะพร้าว เศษชิ้นไม้ และขี้เลื่อย เป็นต้น ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “ชีวมวล” (biomass) ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งทางด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการเกษตร เช่น 1) การนำไปใช้บำบัดขยะอินทรีย์โดยเทคโนโลยีการหมักปุ๋ย ชีวมวลเหล่านี้จะถูกนำมาผสมเพื่อใช้เป็นวัสดุหมักร่วมสำหรับกระบวนการหมัก ในทางวิศวกรรมชีวมวลเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งของธาตุคาร์บอน วัสดุเพิ่มปริมาตร และวัสดุเพิ่มความพรุนให้แก่ระบบการหมักปุ๋ย เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการระบายอากาศให้แก่ระบบการหมัก และลดปัญหาการล้มเหลวของระบบการหมักปุ๋ยภายใต้สภาวะไม่ใช้อากาศ ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น กลิ่น หรือแมลงรบกวน และ 2) การนำไปใช้ผลิตวัสดุเพาะชำด้านการเกษตร โดยเฉพาะชีวมวล เช่น แกลบ ขุยมะพร้าว และขี้เลื่อย มักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักของก้อนเพาะชำสำหรับการปลูกพืชโดยทั่วไป เพื่อใช้เป็นเนื้อสารหลักในการปลูกพืช
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตปัญหาด้านพลังงานของประเทศในปัจจุบัน ส่งผลให้วัสดุชีวมวลดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น อาทิ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการเผาไหม้และแกสซิฟิเคชันเพื่อผลิตพลังงาน หรือใช้ในกระบวนการเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น การผลิตเอทานอล หรือไบโอดีเซล เป็นต้น ประกอบกับการใช้วัสดุชีวมวลดังกล่าว ในการหมักขยะอินทรีย์หรือการหมักปุ๋ยรวมถึงการใช้เป็นวัสดุเพาะปลูกทางการเกษตรนั้น ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงอาจส่งผลต่อการขาดแคลนวัสดุชีวมวลดังกล่าว นอกจากนี้ การบำบัดขยะอินทรีย์ในครัวเรือนโดยเทคโนโลยีการหมักปุ๋ยมักประสบปัญหาปริมาณความชื้นที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการป้อนมูลฝอยเข้าสู่ระบบการหมักทุกวัน จึงอาจส่งผลให้ระบบการหมักล้มเหลวเกิดสภาพการย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศหรือเกิดการเน่าเสียได้โดยง่าย ดังนั้นการพัฒนาวัสดุพยุงแบบใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการระบายอากาศและการดูดซับความชื้นส่วนเกินของกระบวนการหมักขยะอินทรีย์โดยใช้เป็นวัสดุหมักร่วมสามารถลดปัญหาดังกล่าวลงได้ ดังนั้น วัสดุเม็ดดินตามการประดิษฐ์นี้ สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ คือ ไม่เป็นพิษต่อจุลินทรีย์ ช่วยดูดซับความชื้นส่วนเกินและอมน้ำได้นาน เพิ่มปริมาณความพรุนและการระบายอากาศ ย่อยสลายได้ยากและทนต่อการเสียดสี และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยง่าย เมื่อนำวัสดุเม็ดดินไปใช้ประโยชน์ทดแทนวัสดุชีวมวลดังกล่าวที่เกี่ยวกับการบำบัดขยะอินทรีย์สามารถเป็นทางเลือกในการลดปัญหาและข้อจำกัดที่กล่าวมาได้
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
นวัตกรรมเม็ดดินที่ใช้สำหรับการบำบัดขยะอินทรีย์ตามการประดิษฐ์นี้ กรรมวิธีการผลิตเม็ดดินประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนการผสมส่วนประกอบของเม็ดดิน ขั้นตอนการขึ้นรูปเม็ดดิน ขั้นตอนการทำเม็ดดินให้แห้งโดยใช้ความร้อน และขั้นตอนการทำให้เม็ดดินเย็นตัวลงและการบรรจุผลิตภัณฑ์ ลักษณะเม็ดดินตามการประดิษฐ์นี้ มีสีตามธรรมชาติของดินที่ผสม น้ำหนักเบา มีความแกร่ง ไม่แตกร้าวเมื่อสัมผัสแดด ไม่เปื่อยยุ่ยเมื่อแช่น้ำ ดูดซึมน้ำได้ดี นอกจากนี้ ยังพบว่าเม็ดดินดังกล่าวไม่เป็นพิษต่อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ สามารถประยุกต์ใช้เป็นวัสดุตัวกลาง (media) สำหรับการเจริญเติบโตให้แก่จุลินทรีย์ในระบบการหมักและนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำได้โดยง่าย จึงใช้เป็นวัสดุบัลกิ้งเอเจนท์หรือวัสดุหมักร่วมในการหมักปุ๋ยขยะอินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิผล
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
น.ส. นภัสนันน์ กล้าวิกย์การ
โทรศัพท์ 02-2788219
โทรศัพท์มือถือ 099-1466265
Email napatsanan@trf.or.th
งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "นวัตกรรมเม็ดลูกดินสำหรับการบำบัดขยะอินทรีย์หรือใช้เป็นวัสดุปลูก"