ชุดทดสอบอิมมูโนวินิจฉัยสำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจหาเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง
นักวิจัย  
รศ.ดร.น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา
สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
 
สถานภาพสิทธิบัตร
อยู่ระหว่างยื่นคำขอ
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
พยาธิใบไม้ในตับ Fasciola gigantica และพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหาร paramphistomes เป็นสาเหตุของโรคพยาธิใบไม้ในตับ (fasciolosis) และโรคพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหาร (paramphistomosis) ของปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ และ แกะ รวมถึงมนุษย์ พบการระบาดในเขตร้อนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากทั้งสองโรคนี้ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ตับอย่างรุนแรง คือ ทำลายเซลล์ตับ อุดตันท่อน้ำดี กระเพาะอาหาร และลำไส้ พยาธิตัวแก่มีทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน เมื่อพยาธิตัวเต็มวัยเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะปล่อยไข่ในถุงน้ำดีและท่อน้ำดีหรือปล่อยไข่ในระบบทางเดินอาหาร ไข่จะไหลผ่านท่อน้ำดีมาบริเวณลำไส้เล็กและปนออกมากับอุจจาระเมื่อมีอุณหภูมิพอเหมาะสม ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนในน้ำแล้วไชเข้าไปเจริญเติบโตและแบ่งตัวอยู่ในหอยคันก้นแหลม (Lymnaea sp.) จากนั้นจะออกจากหอยคันไปเกาะอยู่ตามพืชน้ำ เพื่อเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ (metacercariae) เมื่อสัตว์หรือมนุษย์กินพืชน้ำที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อนี้เข้าไป ตัวอ่อนจะหลุดออกจากหนังหุ้มและไชผ่านทะลุผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่ช่องท้องไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวเต็มวัยที่ท่อน้ำดีและถุงน้ำดีในตับ หรือตัวอ่อนพยาธิมีการเคลื่อนตัวไปที่กระเพาะอาหารแล้วปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระอีก นอกจากนี้พยาธิยังปล่อยสารพิษออกมาขัดขวางการสร้างและทำลายเม็ดเลือดแดงของสัตว์นั้น มีผลทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อพยาธิเติบโตช้าส่งผลให้ผลผลิตทางปศุสัตว์ได้แก่ เนื้อ ขน และการให้นมลดลง รวมถึงเป็นสาเหตุการตายในสัตว์ที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง ในประเทศไทยการติดเชื้อพยาธิ F. gigantica ทำให้มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี
การวินิจฉัยโรคในปัจจุบันใช้วิธีการตรวจนับไข่พยาธิในอุจจาระของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยโรคในระยะแรกของการติดเชื้อได้ ใช้เวลาในการตรวจนาน ผลที่ได้ไม่มีความแม่นยำ ผู้ตรวจต้องมีความชำนาญ รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้พัฒนา “ชุดทดสอบอิมมูโนวินิจฉัยสำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจหาเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง”ซึ่งเป็นชุดทดสอบที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจหาเชื้อประกอบด้วยถาดทดสอบที่เคลือบด้วยแอนติบอดีที่จำเพาะและน้ำยาสำหรับการทดสอบ
สรุปและจุดเด่นเทคโนโลยี
ชุดทดสอบสำหรับการวินิจฉัยโรคพยาธิใบไม้ในตับ (fasciolosis) และโรคพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหาร (paramphistomosis) เป็นชุดทดสอบที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจหาเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหาร โดยประกอบไปด้วยถาดทดสอบที่เคลือบด้วยแอนติบอดีที่จำเพาะและน้ำยาสำหรับการทดสอบ ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ความร่วมมือที่เสาะหา
เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
สถานภาพของผลงานวิจัย
ได้ต้นแบบระดับ pilot scale
เงื่อนไข
เทคโนโลยีต่อรองราคา
สนใจสอบถามข้อมูล
นภัสนันน์ กล้าวิกย์การ
โทรศัพท์ 022788219
โทรศัพท์มือถือ 0991466265
Email napatsanan@trf.or.th
งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

คุณต้องการขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี "ชุดทดสอบอิมมูโนวินิจฉัยสำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจหาเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง"